

นายณฤกษ์ มางเขียว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ของซีพีเอฟ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน ISO50001 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นองค์กรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยที่ให้ความสำคัญกับการใช้ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน ภายใต้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
“มาตรฐาน ISO50001 ที่ได้รับนี้นับเป็นผลสำเร็จจากโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ ที่เกิดจากการสร้างจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของบุคลากรทุกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการผลิตและการปฎิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และยังนำระบบบริหารจัดการพลังงานระดับสากลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่นำไปสู่ความอย่างยั่งยืน” นายณฤกษ์ กล่าว
ด้าน นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กล่าวว่า การได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน นับว่าเป็นความจำเป็นของธุรกิจในสภาวะปัจจุบัน ที่แต่ละองค์กรมีการใช้พลังงานกันอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ใช้ผลิตพลังงานที่ลดน้อยลงทุกๆวัน องค์กรที่ต้องการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ จะต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรศฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน โดยมาตรฐานการจัดการพลังงานนี้จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การนำทรัพยากรมาใช้น้อยลง ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้น ดังนั้นการนำระบบการจัดการนี้มาใช้จึงช่วยให้องค์กรอยู่อย่างยั่งยืน
“สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ในฐานะที่เป็นหน่วยรับรองระบบการจัดการ และเป็นผู้ให้การรับรองระบบการจัดการต่างๆ อาทิ ISO9001 ISO14001 มอก.18001 และ ISO22301 จึงมีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาให้องค์กรมีระบบการจัดการที่ดียิ่งขึ้น และขอแสดงความยินดีกับซีพีเอฟที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO50001 ที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการผลิตที่ไม่เพียงมุ่งเน้นการลดใช้พลังงาน และมีความพยายามในการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายจงรักษ์ กล่าว
สำหรับโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานที่โดดเด่นของโรงงานซีพีเอฟหนองจอก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation) ถูกออกแบบให้สามารถลดค่าพลังงานของระบบสาธารณูปโภคเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำความร้อนเหลือทิ้งจากการผลิตไฟฟ้ากลับมาใช้ในรูปแบบไอน้ำและน้ำร้อน โครงการระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อหมักไร้อากาศแบบปิด ชนิดแผ่นกั้น (Buffer) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ตลอดจนโครงการรณรงค์ลดการใช้พลังงานของบุคลากรในโรงงาน./