

คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กำหนดนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจมีความสอดคล้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อันนำไปสู่พัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาว
นโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย
หลักการ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่า “คู่ค้าธุรกิจ” คือ ห่วงโซ่สำคัญของความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพในด้านคุณค่า รสชาติ และความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ บนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัทเชื่อว่าความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ จึงได้กำหนดนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจมีความสอดคล้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนโยบายและแนวปฏิบัตินี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาวไปด้วยกัน หากยังเป็นโอกาสให้บริษัทและคู่ค้าธุรกิจมีส่วนร่วมปรับปรุงและพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยภาพรวมด้วย
ขอบเขต
นโยบายและแนวปฏิบัติฉบับนี้บังคับใช้กับซีพีเอฟและบริษัทย่อย รวมถึงส่งมอบให้กับคู่ค้าธุรกิจของบริษัทนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ
นิยาม
บริษัท หมายถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
บริษัทย่อย หมายถึง บริษัทที่ซีพีเอฟถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 และมีอำนาจควบคุม
คู่ค้าธุรกิจ หมายถึง ผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ รวมถึงผู้รับเหมาแรงงานและบริการ
แนวทางปฏิบัติ
เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของคู่ค้าธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน บริษัทจึงกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการด้านการจัดหาไว้ดังนี้
- ฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้และความเข้าใจถึงนโยบาย และแนวปฏิบัติ
- ส่งต่อนโยบายและแนวปฏิบัติแก่คู่ค้าธุรกิจ
- ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
- ร่วมพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันบนพื้นฐาน ความรับผิดชอบ
พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ครอบคลุมแนวทางการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ดังนี้
ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ
(PRODUCT & SERVICE)
ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร บริษัทให้ความสำคัญและใส่ใจอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร” ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญต้นทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงคาดหวังให้คู่ค้าธุรกิจมีการดำเนินการ ดังนี้
- คุณภาพและความปลอดภัย
คู่ค้าธุรกิจจะสร้างสรรค์หรือจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านวิธีการควบคุมและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามข้อกำหนดของบริษัทคำรับรองที่คู่ค้าธุรกิจให้ไว้
- การตรวจสอบย้อนกลับ
คู่ค้าธุรกิจจะสามารถแสดงหลักฐานหรือเอกสารรับรองแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของกระบวนการผลิตแก่บริษัทและผู้เกี่ยวข้อง หากได้รับการร้องขอระหว่างการตรวจประเมิน
ด้านบุคลากร
(PEOPLE)
บริษัทให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมและเคารพในสิทธิมนุษยชน จึงคาดหวังให้คู่ค้าธุรกิจให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยมีการดำเนินการดังน
- แรงงานเด็ก
คู่ค้าธุรกิจจะปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสากลด้านแรงงานว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน และจะไม่ให้แรงงานผู้เยาว์ทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการศึกษาภาคบังคับ
- แรงงานบังคับ
คู่ค้าธุรกิจจะไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ และจะไม่เรียกเก็บเงินหรือเอกสารประจำตัวใดๆ ของพนักงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
- การไม่เลือกปฏิบัติ
คู่ค้าธุรกิจจะเคารพในความแตกต่างและปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เอื้อประโยชน์หรือลิดรอนสิทธิของพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม อันมีสาเหตุมาจากเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ต้นตระกูล ศาสนา สถานะทางสังคม เพศ อายุ ความพิการหรือทุพพลภาพ แนวคิดทางการเมืองตลอดจนสถานภาพเกี่ยวกับการสมรส
- การจ่ายผลตอบแทน
คู่ค้าธุรกิจจะจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และจะไม่หักค่าจ้างพนักงานไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่ที่กฎหมายยกเว้นไว้
- ชั่วโมงการทำงาน
คู่ค้าธุรกิจจะกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้และจะดูแลให้ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของพนักงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- สิทธิในการเข้าร่วมสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรอง
คู่ค้าธุรกิจจะเคารพสิทธิพนักงานในการจัดตั้งหรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมถึงการเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาต่อรองตามขั้นตอนของกฎหมาย
- การดูแลเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ
คู่ค้าธุรกิจจะจัดให้มีสภาวะแวดล้อม เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมทั้งการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้มีการควบคุมขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และมาตรการดูแลทางด้านเทคนิคอื่นๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงาน ตลอดจนไม่เกิดการหยุดชะงักในกระบวนการผลิต
ด้านกระบวนการ
(PROCESS)
บริษัทตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยต้นทางและพื้นฐานของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร จึงได้ดำเนินงานภายใต้แนวทาง “ธุรกิจสีเขียว” หรือ Green Business ด้วยการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด การบริหารจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการผลิตในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในฐานะที่คู่ค้าธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงาน บริษัทจึงคาดหวังความร่วมมือจากคู่ค้าธุรกิจในการดำเนินงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี
- การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
คู่ค้าธุรกิจจะปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น รวมถึงจะสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย
1.บริหารจัดการทรัพยากรพลังงาน น้ำและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
2.มีส่วนร่วมในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
- การปรับปรุงประสิทธิภาพ / การพัฒนานวัตกรรม
คู่ค้าธุรกิจจะร่วมคิด ดำเนินการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง อันนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพหรือนวัตกรรมในธุรกิจ
ด้านการดำเนินการ
(PERFORMANCE)
บริษัทยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงคาดหวังให้คู่ค้าธุรกิจซึ่งดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท มีแนวทางการบริหารจัดการองค์กรที่สอดคล้องกัน โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การปฏิบัติตามกฎหมาย
คู่ค้าธุรกิจจะปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่
- การบริหารความเสี่ยง
คู่ค้าธุรกิจจะติดตามสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลกระทบและกำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยงนั้นๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
คู่ค้าธุรกิจจะรายงานผลประกอบการหรือสถานะทางการเงินอย่างครบถ้วน โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่แสดงในรายงานทางการเงินควรมีความถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
คู่ค้าธุรกิจจะให้ข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ถือหุ้นโดยรวมอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีมาตรการป้องกันผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ
- การประกอบกิจการอย่างเป็นธรรม
คู่ค้าธุรกิจจะดำเนินงานบนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎกติกาและจริยธรรม และไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
- การป้องกันการทุจริต
คู่ค้าธุรกิจจะสนับสนุนและร่วมมือในการต่อต้านการทุจริต โดยกำหนดเป็นนโยบาย วางแผนบริหารความเสี่ยง สร้างกลไกการรายงานและติดตามผล และ/หรือจัดฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้ถึงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นและการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงาน
- การรักษาความลับ
คู่ค้าธุรกิจจะเคารพในสิทธิและข้อมูลของลูกค้าและคู่ค้า โดยจะไม่ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าและคู่ค้าหากไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่เป็นการปฎิบัติตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น
บริษัทคาดหวังว่าคู่ค้าธุรกิจจะสื่อสารแนวปฏิบัติสู่ความยั่งยืนข้างต้นนี้แก่พนักงาน เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดหาและส่งมอบอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนระหว่างบริษัทและคู่ค้าธุรกิจต่อไป