

จากการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกของสถาบันประชากรศึกษาของฝรั่งเศส หรืออินเนด ว่าในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7.1 พันล้านคนนั้น แน่นอนว่าจะทำให้การบริโภคของมนุษย์ในทุกๆ ด้านเพิ่มขึ้นในอัตราสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะการใช้พลังงานที่จะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน หากแต่พลังงานธรรมชาติกลับมีอยู่อย่างจำกัดและนับวันปริมาณยิ่งลดน้อยลง สวนทางกับอัตราการใช้ที่สูงขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นกระแสความกังวลในระดับโลก และเป็นที่มาของความพยายามของภาคส่วนต่างๆในการเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ รวมทั้งหาวิธีการในการลดการใช้ เพื่อชะลอไม่ให้พลังงานต้องหมดลงเร็วเกินไปนัก
สำหรับในบ้านเราก็มีกระแสความใส่ใจในเรื่องนี้เช่นกัน โดยภาคเอกชนที่ลงมือดำเนินการอย่างจริงจัง คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่มีความพยายามในการลดการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาโดยตลอด ด้วยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน ยังมุ่งสร้าง “นวัตกร” ด้วยการผลักดันให้บุคลากรสร้างสรรค์ผลงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากมาย สะท้อนภาพการเป็นผู้นำ "การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
“ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามาตลอด โดยบริษัทกำหนดให้มีมาตรการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2544 ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนโรงงานผลิตอาหารแปรรูป โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อลดการใช้พลังงาน” ศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกถึงที่มาของความใส่ใจด้านพลังงานของบริษัท
โรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูป มีนบุรี 1 ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจของซีพีเอฟ ที่ให้มีความโดดเด่นด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากโครงการมากมายที่เกิดจากการค้นคว้าพัฒนานวัตกรรม โดยเริ่มจากโครงการง่ายๆที่บุคลากรทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ อย่างโครงการประหยัดพลังงานและโครงการลดการใช้น้ำ ซึ่งตัวเลขการประหยัดเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มต้นโครงการถือว่าลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ
ที่สำคัญ โรงงานมีนบุรี 1 ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมโครงการบัญชีบริหารสิ่งแวดล้อม (Environments Management Accounting: EMA) ซึ่งระบบ EMA เป็นเครื่องมือในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่นิยมแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจากมหาวิทยาลัย Luenburg เยอรมนี เป็นที่ปรึกษาโครงการ ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี
EMA คือการนำข้อมูลทางด้านบัญชี มาวิเคราะห์ขบวนการเพื่อหาจุด Hot Spot คือจุดที่มีการใช้พลังงานสูง เพื่อนำมาจัดทำโครงการลดการใช้พลังงานต่างๆ ภายในบริษัทฯ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรและพลังงานเป็นสำคัญ จึงหาแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อนำมาทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองหรือฟอสซิล (น้ำมันเตา)ในการผลิตน้ำร้อนเพื่อป้อนเข้าหม้อไอน้ำจ่ายให้กับเครื่องจักรในกระบวนการผลิต
เกิดเป็น “โครงการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Collector) ที่เป็นพลังงานสะอาด มาผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้งจากปล่องไอเสียของหม้อไอน้ำ โดยผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) สำหรับผลิตน้ำร้อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ (Boiler) ในกระบวนการผลิตเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการต้มน้ำ
ศุภชัย บอกว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ซีพีเอฟ กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ในการค้นคว้าพัฒนาโครงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ซึ่งถือเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังดึงเอาความร้อนที่หลายคนปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์กลับมาใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดแหล่งพลังงานใหม่ที่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันเตา ได้ถึงปีละ 146,283 ลิตร คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านบาทต่อปี
“ที่สำคัญโครงการนี้ยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึงปีละ 432 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าการปลูกป่าในพื้นที่ 2.4 ไร่ต่อปี" ศุภชัย กล่าว
สำหรับกระบวนการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานนี้ ศุภชัย อธิบายว่า เริ่มจากการนำน้ำอุณหภูมิปกติที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส มาทำให้ร้อนขึ้นเป็น 60 องศาเซลเซียส โดยวิธีแลกเปลี่ยนความร้อนจากแสงอาทิตย์ ผ่านชุด Solar Collector จำนวน 195 แผง มีพื้นที่รับแสงรวม 499.2 ตารางเมตร ทำให้สามารถผลิตน้ำร้อนได้ถึง 20,000,000 ลิตรต่อปี ขณะเดียวกัน การนำความร้อนที่ได้จาก Economizer ที่ปล่องไอเสียของหม้อไอน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 210 องศาเซลเซียส มาแลกเปลี่ยนกับน้ำที่อุณหภูมิปกติ ให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 60 องศาเซลเซียส สามารถผลิตน้ำร้อนจากระบบนี้ได้ประมาณ10,000,000 ลิตรต่อปี
“ปริมาณน้ำร้อนที่ผลิตได้จากทั้ง 2 ระบบ รวมกันแล้วมีมากถึงปีละ 30,000,000 ลิตร นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังช่วยลดการปล่อยความร้อนจากปล่องหม้อไอน้ำที่มีอุณหภูมิสูงออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง” ศุภชัย กล่าว
นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้ยังมีหลักคิดที่น่าสนใจที่ว่า "อย่ามองของเสียเป็นเพียงขยะ เพราะมันมีพลังงานแฝงอยู่" จึงเกิดเป็นโครงการต้นแบบในการนำพลังงานจากน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ด้วยการ "ผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ" จากระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อหมักไร้อากาศ (Anaerobic Baffled Reactor : ABR) ที่เปลี่ยนค่าความสกปรกในน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ ได้วันละกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตร จากการย่อยสลายน้ำเสียได้สูงสุดถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
“การผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบ ABR ช่วยลดมลพิษทางกลิ่นและก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงาน ถือเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย และบุคลากรของเรายังคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อให้เสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการเสริมแผ่นกั้นทิศทางการไหลของน้ำ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์กับน้ำเสียสัมผัสกันมากขึ้น จึงเกิดการหมักที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” ศุภชัย บอกถึงความก้าวหน้าของโครงการ
จากการพัฒนาระบบดังกล่าว ทำให้สามารถผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ทดแทนการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำได้ปีละกว่า 36,000 ลิตรลดค่าพลังงานได้มากถึง 6.6 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เทียบเท่าการปลูกป่า 88 ไร่ต่อปี และเนื่องจากระบบนี้มีประสิทธิภาพสูงจึงลดพื้นที่ในการก่อสร้างลงได้ถึง 70% ที่สำคัญยังช่วยลดกลิ่นที่อาจรบกวนชุมชน ทำให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน จากความสำเร็จของโครงการต้นแบบที่โรงงานมีนบุรี ถูกนำไปต่อยอดสู่โรงงานอาหารแปรรูปของซีพีเอฟรวม 7 แห่งในปัจจุบัน
การตระหนักถึงความสำคัญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนผ่านการจัดการระบบการผลิตที่สอดคล้องกับนโยบายรักษ์โลกของซีพีเอฟ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมและต่อโลกในระยะยาว ภายใต้ “จิตสำนึก” ของผู้ปฏิบัติ ทำให้แรงพลังในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟยิ่งแข็งแรงและมั่นคงขึ้น หากทุกองค์กรร่วมกันค้นหาวิธีการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ย่อมส่งผลดีต่อโลกได้อย่างมหาศาล.