

(อินเดีย) 19 กุมภาพันธ์ 2561 - บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร อินเดีย จำกัด ร่วมสนับสนุนสมาคมการประมง บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมประมงและรัฐบาลอินเดีย ร่างแผนการทำงานเพื่อพัฒนาการทำประมงสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นร่างแผนการทำงานฉบับแรกภายใต้โครงการพัฒนาและปรับปรุงด้านการประมง (Fishery Improvement Plan) หรือ FIP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การประมงน้ำมันปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตน้ำมันปลา ในชายฝั่งตะวันตกเป็นไปอย่างยั่งยืน
ในการประชุมครั้งล่าสุดที่เมืองปณชี ประเทศอินเดีย คณะทำงานได้ตกลงที่จะผลักดันให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในเขตชายฝั่งรัฐกัว และมหาราษฏระ
นายโกวิน เจสวาล ไอแอส กรรมการและเลขานุการ สำนักงานประมงรัฐกัว ได้แสดงความขอบคุณต่อคณะทำงาน FIP ที่ได้ร่วมกำหนดแนวทางเพื่อร่างแผนปฏิบัติการ พร้อมชี้ว่าภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้มาตรการ และตรวจสอบด้วยหลักการประเมินความยั่งยืนซึ่งบนพื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรสากล นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียจะให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
จากการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานมีความเห็นร่วมกันให้ผลักดันให้เพิ่มความถี่ในการประเมินทรัพยากรประมงในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ชาวประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลตระหนักถึงสถานการณ์และความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการให้เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะทำงานได้นำมาตรฐานการตรวจสอบและประเมินขององค์กรปลาป่นสากลและน้ำมันปลาสากล หรือ Standard International Fishmeal and Fish Oil Organization Responsible Supply Standard (IFFO RS) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อ้างอิงจากหลักจรรยาบรรณ เพื่อการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนร่วมพัฒนาขึ้นมา
ตัวแทนจากซีพีเอฟ อินเดีย กล่าวว่า เป็นนโยบายของบริษัทฯในการสนับสนุนและร่วมร่างแผนการทำงานของ FIP รวมถึงได้ปรับกลยุทธ์การผลิตให้สอดคล้องกับหลักการของ FIP และ IFFO RS Improver นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดการอบรมอย่างต่อเนื่องให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตอาหารปลา และชาวประมง ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals)
“ซีพีเอฟ อินเดีย มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจน ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งนี้บริษัทให้การสนับสนุน และให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน ให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท” ตัวแทนจากซีพีเอฟ อินเดีย กล่าว
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2560 ซีพีเอฟ อินเดีย บริษัท Omega Fishmeal and Oil และ กลุ่มชาวประมง ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการสนับสนุน FIP โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ Sustainable Fishery Partnership (SFP) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความสำคัญกับการทำประมงอย่างยั่งยืน ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการและกำกับดูแลกิจการประมง ความปลอดภัยของอาหาร ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใส่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล