

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ และนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติ พร้อมปันน้ำจากฟาร์มและโรงงานช่วยเหลือเกษตรกรบรรเทาภัยแล้ง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหัวใจหลักในการผลิตของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม มีการบริหารจัดการน้ำด้วยความรอบคอบให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดตลอดกระบวนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตามแนวทาง Eco-Efficiency ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของธุรกิจและการรักษาระบบนิเวศโดยการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน สู่เป้าหมายการลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติ
ซีพีเอฟ มีเป้าหมายลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 25% ในปี 2563 และ 30% ในปี 2568 ตามลำดับ และมีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3 แนวทาง คือ 1.การประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ตามหลักการของ Aqueduct ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินความเสี่ยงสากลด้านน้ำ 2.การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และ 3.การกระจายน้ำที่บำบัดแล้วจากฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร ให้กับชุมชนและเกษตรกรรอบโรงงานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงด้านน้ำของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบในสภาวะแล้ง ขณะที่การนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่จะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยในปี 2561 บริษัทฯมีน้ำที่ผ่านการบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่จำนวน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 18% ของปริมาณการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด ทั้งยังส่งผลให้การดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตของบริษัทฯลดลง 32% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558
“บริษัทฯ ได้ย้ำให้ทุกธุรกิจของบริษัทฯทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและดูแลการปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วไปช่วยเหลือชุมชนรอบฟาร์มและโรงงาน” นายประสิทธิ์ กล่าว
ในปี 2561 ฟาร์มกุ้งของ ซีพีเอฟ ลดการใช้น้ำได้ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการเลี้ยงอย่างเหมาะสมและนำเทคโนโลยีรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำน้ำจากกระบวนการเลี้ยงไปหมุนเวียนใช้ในฟาร์ม โดยไม่มีการปล่อยน้ำจากฟาร์มสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Discharge) ทำให้ลดการนำน้ำจากภายนอกมาใช้ 70-75 % เมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้งแบบเดิม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีไบโอฟลอค (Biofloc Technology) มาช่วยจัดการของเสียในบ่อเลี้ยงกุ้ง ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างการเลี้ยง ส่งผลให้การใช้น้ำลดเหลือเพียง 1.5 ลูกบาศก์เมตรต่อกุ้ง 1 กิโลกรัม เปรียบเทียบกับการเลี้ยงกุ้งโดยทั่วไปที่น้ำหนักเท่ากันต้องใช้น้ำ 5 ลูกบาศก์เมตร
สำหรับฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่เนื้อมีการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานการกินและใช้น้ำต่อตัวสัตว์ ตลอดจน ตรวจสอบอุปกรณ์ส่งน้ำในฟาร์มให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นต้น โดยในปี 2561 สามารถส่งน้ำที่บำบัดแล้วช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานเพื่อใช้ในการเพาะปลูกจำนวน 380,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 3,650 ไร่ โดยน้ำที่ใช้จากการเลี้ยงสุกรเมื่อนำเข้าสู่กระบวนการหมักในระบบไบโอแก๊ส ได้แก๊สมีเทนไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในฟาร์ม ส่วนน้ำที่ได้หลังจากการบำบัดมีธาตุอาหารที่พืชต้องการ คือ ไนไตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็นน้ำปุ๋ยส่งให้เกษตรกรสวนผลไม้ ไร่อ้อย มันสำปะหลัง นอกจากช่วยลดปริมาณการใช้น้ำของเกษตรกรแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนค่าปุ๋ยด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผืนป่า “เขาพระยาเดินธง” ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำป่าสัก ผืนป่าที่สมบูรณ์จะช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสัก เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าสู่องค์กร “คาร์บอนต่ำ” มีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25% ในปี 2568 จากปีฐาน 2558 ซึ่งให้ความสำคัญการลดการปล่อยก๊าซฯทั้งในกระบวนการผลิตและจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โครงการพลังงานจากชีวมวล โครงการโซล่าร์รูฟท็อปจำนวน 25 โรงงาน และโครงการนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได-
อ๊อกไซด์ได้เฉลี่ยปีละ 522,000 ตันต่อปี โดยในปี 2562 บริษัทฯ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
ซีพีเอฟ ยังได้นำแนวทาง “Neutral Carbon” ไปใช้ในการจัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ เดิน-วิ่งการกุศล ด้วยการนำคาร์บอนเครดิตที่บริษัทฯสะสมไว้ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) จำนวน 560 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า มาชดเชยกับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการจัดงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การพักแรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งสิ่งเหลือทิ้งจากการจัดงาน ให้เท่ากับศูนย์ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563.