บริษัทมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดหาปลาป่นอย่างรับผิดชอบและการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) กับกลุ่มความร่วมมือทั้งระดับประเทศและนานาชาติ
คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (Thai Sustainable Fisheries Roundtable: TSFR)
บริษัททำงานร่วมกับคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (TSFR) ในนามสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผลักดันโครงการส่งเสริมการจัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Project: FIP) สำหรับประมงอวนลากในทะเลไทยทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานการประมงในภูมิภาคอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
TFSR ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำรวม 8 สมาคม ได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านนํ้าไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
http://www.tsfr.in.th/)
คณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน (Seafood Task Force)
บริษัทร่วมกับคณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และโปร่งใส รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมงไทย โดยการสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการกวาดจับสัตว์น้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตามเรือประมง VMS (Vessel Monitoring System) เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing)
บริษัทได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนชาวประมง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ในเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยพันธมิตรอุตสาหกรรม เช่น ผู้ค้าปลีกชั้นนำของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ผู้ผลิตสินค้าอาหารทะเลในประเทศไทย (กว่า 33 บริษัท) และองค์กรอิสระระดับสากล (กว่า 18 องค์กร) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.seafoodtaskforce.global/)
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาล แรงงานประมง จังหวัดสงขลา (The Fishermen Life Enhancement Center: FLEC)
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาล แรงงานประมง จังหวัดสงขลา (FLEC) ถูกก่อตั้งเพื่อขจัดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเรือประมง ควบคู่ไปกับพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงและครอบครัว ด้วยการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ตลอดจนสร้างผู้นำความคิดและอบรมให้ความรู้แก่แรงงานประมง เพื่อไม่ให้ถูกล่อลวงไปเป็นแรงงานทาส นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่อบรมอาชีพให้แก่สตรีและห้องเรียนรู้ให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนด้วย
ซีพีเอฟร่วมกับอีก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์กรสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) ก่อตั้ง FLEC ตั้งแต่ปี 2558
Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS)

บริษัทร่วมลงนามเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือ Seafood Business for Ocean Stewardship หรือ SeaBOS เพื่อความร่วมมือระดับสากลในการพิทักษ์มหาสมุทรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล สู่เป้าหมายการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการผลิตอาหารทะเลคุณภาพสำหรับมนุษย์ด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะประยุกต์ใช้กฎระเบียบสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ขจัดแรงงานที่ผิดกฎหมาย พัฒนาระบบทวนสอบย้อนกลับ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลาสติก เป็นต้น ผ่านการลงทุนร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
SeaBOS ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเล 10 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดอาหารทะเล 80% ของโลก ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล
Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST)

ซีพีเอฟร่วมอภิปรายในเวทีระดับสากลเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล (GSDT) เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบย้อนกลับแบบตลอดห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล การร่วมลงนามและมีส่วนร่วมในเวทีอภิปรายดังกล่าว ช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเลได้อย่างยั่งยืนและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
GSDT ก่อตั้งในปี 2558 โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) และ Global Food Traceability Center (GFTC) สังกัด Institute of Food Technologists (IFT) จากการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีกรอบการดำเนินงานด้านการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ตั้งแต่ปี 2555 การดำเนินการอภิปรายแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนโดยผู้เข้าร่วมซึ่งมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นหลัก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://traceability-dialogue.org/)
องค์กรสากลด้านมาตรฐานความยั่งยืนของอาหารทะเล (Global Sustainable Seafood Initiative: GSSI)

บริษัทเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรสากลด้านมาตรฐานความยั่งยืนของอาหารทะเล (GSSI) ที่ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานอาหารทะเลให้มีความเท่าเทียมกัน ผ่านหลักเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานที่มีความโปร่งใสสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ขณะเดียวกัน GSSI ยังทำหน้าที่เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้การทำงานตามแนวทางการผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน อาทิ การปฏิบัติตามข้อกำหนดทางด้านสังคม และการทำประมงผิดกฎหมาย โดยการกำหนดมาตรฐานที่เท่าเทียมกันจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในส่วนของการดำเนินการและขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนเพื่อขอการรับรองมาตรฐานสากลที่มีความหลากหลายของหน่วยงานต่างๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคและผู้ซื้อในต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออก
GSSI เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมกว่า 90 ราย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.ourgssi.org/)
โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน และสุขภาพที่ดี (Food Reform For Sustainability and Health: FReSH)


เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยซีพีเอฟ ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน 35 บริษัทชั้นนำระดับโลก ดำเนิน “โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน และสุขภาพที่ดี (Food Reform for Sustainability and Health: FReSH)” ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สุขภาพและโภชนาการ (Health and Sustainable Diet) การผลิตที่ยั่งยืน (Food Production) การบริโภคที่ยั่งยืน (Food Consumption) การสูญเสียอาหารและอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Loss and Waste) ตลอดจนการติดตามผลและรายงานผลการดำเนินโครงการ (Performance and Reporting)
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Fisheries Research And Development Institute: SFRD)

บริษัทร่วมจัดตั้งและเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน “มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายพัฒนาการประมงและดูแลทรัพยากรในท้องทะเลอย่างยั่งยืน ด้วยการ “วิจัย“ “พัฒนา” “เชื่อมโยง” และ “เติมเต็ม” ภารกิจหรือกิจกรรมของแต่ละองค์กรเข้าด้วยกัน การจัดตั้งมูลนิธินี้เป็นการต่อยอดจาก “โครงการทะเลสะอาด” ที่มุ่งขจัดปัญหาขยะทะเลอันเป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบัน ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการฯมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบันโครงการฯมีเรือประมงเข้าร่วมแล้วมากกว่า 6,000 ลำ ทั้งนี้การจัดตั้งมูลนิธิจะต่อยอดให้โครงการฯ ให้สามารถดำเนินงานต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปแบบองค์กรที่ยั่งยืน
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืนเป็นความร่วมมือของนักวิชาการประมง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.sfrd.org/-1)
เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN)

บริษัทเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับประเทศไทย ครอบคลุมการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ คือ ธุรกิจที่ปล่อยมลพิษต่ำ ธุรกิจที่เปิดโอกาสอย่างทั่วถึง และธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ในโครงการฯ จะแบ่งออกเป็นกิจกรรมในเรื่องการตระหนักถึงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ซึ่งบริษัทได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมในด้าน Circular Economy และ Climate Change ของโครงการ
TRBN ประกอบด้วย 9 องค์กรได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม SB ประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และเป็นเครือข่ายภายใต้โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก