บริษัทประยุกต์ใช้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์-แปรรูป และการผลิตอาหาร
เริ่มจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หม้อไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยในปี 2562 ในธุรกิจอาหารสัตว์ของกิจการประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 52 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด
ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงงานผลิตอาหารได้นำของเสียและน้ำเสียเข้าสู่ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในองค์กร ในปี 2562 ในธุรกิจการเลี้ยงสัตว์-แปรรูปและธุรกิจอาหารของกิจการประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 36 และ 1 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดตามลำดับ
นอกจากนี้ มูลสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงของบริษัทยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยใช้ในภาคกสิกรรมและเราได้ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชนใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ในโรงงานผลิตอาหารแปรรูปยังนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดีเซลและป้องกันน้ำมันพืชเก่ากลับเข้าสู่วงจรอาหาร
จากความพยายามในการลดปริมาณของเสียและนำของเสียกลับไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ในปี 2562 มีของเสียเพียงร้อยละ 2 จากของเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบและเผา

โครงการคอมเพล็กซ์ไก่ไข่
ตั้งแต่ปี 2561 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธุรกิจไก่ไข่ จากแนวคิดการผลิตไข่ไก่แบบครบวงจรและช่วยเพิ่มการป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์มตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในทุกกระบวนการ บริษัทได้ริเริ่มการรวมฟาร์มเลี้ยงไก่รุ่น ไก่ไข่ โรงคัดไข่ และโรงงานแปรรูปไข่มาไว้ในบริเวณพื้นที่เดียวกันภายใต้ “โครงการคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ผ่านแนวความคิด Zero Waste” โดยบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิต การปรับปรุงเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางแผนการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยเริ่มจากคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการต้นแบบซึ่งสามารถนำมูลสัตว์และน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ และนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนกลับไปใช้ในคอมเพล็กซ์ทดแทนการซื้อไฟฟ้าได้ โดยในปี 2562 บริษัทได้ขยายผลต่อไปในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่อีก 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย สามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้า ได้กว่าร้อยละ 59 ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 79 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 95,000 ตัน CO2 เทียบเท่า
